งานวิจัย

กลุ่มวิจัยพัฒนาแอนติบอดีเพื่อการรักษา (Therapeutic Antibody)

การรักษาด้วย antibody therapy โดยการใช้ monoclonal antibody ชนิดต่างๆที่สามารถจับกับโมเลกุล เป้าหมายบนเซลล์มะเร็งแล้วชักนำให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง หรือการใช้ bispecific antibody เป็นต้น ในปัจจุบันมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างไรก็ตามการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดในมะเร็งบางชนิด ก็ยังมีข้อจำกัดเนื่องจากเซลล์มะเร็งหลายชนิด มักมีกลไกในการหลบซ่อนหรือยับยั้งการทำลายจากเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน หนึ่งในกลไกสำคัญที่เซลล์มะเร็ง ใช้คือการแสดงออกของโปรตีนที่ทำหน้าที่ เป็นจุดตรวจภูมิคุ้มกัน “immune checkpoint” (โปรตีน PD-1 และ CTLA-4) ซึ่งมีบทบาทสำคัญ ในการลดการกระตุ้น T-cell ซึ่งจะช่วยลดการแพ้ภูมิตัวเองและส่งเสริม self-tolerance โดยในเซลล์มะเร็งหลายชนิดจะมีการแสดงออกของ PD-1 ligand (PD-L1, PD-L2) บนผิวเซลล์ จำนวนมาก ซึ่งเมื่อไปจับกับ programmed cell death – 1 (PD-1) receptor บนผิวของ T-cell จะทำให้เกิดการ ส่งสัญญาณยับยั้งการทำงานของ T-cell ส่งผลให้ไม่เกิดการทำลายเซลล์มะเร็ง ถึงแม้ว่า T-cell จะจดจำเซลล์มะเร็ง ชนิดนั้นได้ก็ตาม และจากผลการศึกษาในมนุษย์พบว่าเมื่อทำการยับยั้ง PD-1/PD-L1 pathway โดยใช้ monoclonal antibody ที่จับอย่างจำเพาะต่อ PD-1 หรือ PD-L1 สามารถชักนำให้เกิดการทำลายเซลล์มะเร็งได้มีนัยสำคัญ ทำให้ยากลุ่มนี้ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาเพื่อนำมาใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็ง หลายชนิดในปัจจุบัน ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งไต มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งของศรีษะและคอ รวมทั้งมะเร็งของเม็ดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยาในกลุ่มนี้จะช่วยเสริมทำให้การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการใช้เซลล์ดังที่กล่าวข้างต้น หรือการให้วัคซีนที่จะกล่าวต่อไปมีประสิทธิภาพสูงขึ้น อย่างไรก็ตามค่ายาที่เป็น Antibody มีราคาสูงมาก ในปัจจุบันมีราคาสูงถึง 8 ล้านบาทต่อผู้ป่วย 1 ราย
จากการสนับสนุนของทุนสร้างเสริม พลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 1 ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านชีววิทยาเชิงระบบ มีรากฐานและได้สร้างเครือข่ายวิจัยระดับนานาชาติ ที่จะพัฒนากระบวนการผลิตแอนติบอดีมาระดับหนึ่งแล้ว ขณะนี้จึงหันมาเริ่มพัฒนา Therapeutic antibody ต่อโปรตีนที่มีการแสดงออกผิดปกติในเซลล์มะเร็งที่มีประสิทธิภาพและความจำเพาะสูง มีความปลอดภัยสามารถนำไปใช้ในการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดได้เพื่อพัฒนาศักยภาพของประเทศให้มีความสามารถผลิตยากลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ได้เอง โดยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้มียาแอนติบอดีเพื่อการรักษาต้นแบบที่จะนำไปต่อยอดการผลิตเพื่อออกมาใช้ในวงกว้างเพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียมเช่นเดียวกันกับนานาชาติ

กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง (Cancer Cellular Immunotherapy)

เป็นการนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย (หรือจากผู้บริจาคที่เข้ากันได้) ออกมากระตุ้นให้มีความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็งเพิ่มขึ้นและเพิ่มจำนวนในห้องปฏิบัติการจากนั้นก็ใส่กลับเข้าไปในตัวผู้ป่วยเพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเหล่านั้นเข้าไปโจมตีและทำลายเซลล์มะเร็ง โดยจะใช้วิธีการนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อมะเร็งได้เองอย่างเพียงพอ งานวิจัยและพัฒนาในศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งของเราแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ

adoptive T-cell therapy

การพัฒนาการรักษาด้วย T cell-based therapy โดยการใช้ T-cell ที่ผ่านการกระตุ้นและเพิ่มจำนวน (adoptive T-cell therapy) โดยนำเลือดของผู้ป่วยมาทำการแยกเซลล์ชนิดต่างๆของระบบภูมิคุ้มกันที่ต้องการ แล้วนำมาเพาะเลี้ยงและทำการกระตุ้นให้มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง แล้วใส่กลับสู่ร่างกายผู้ป่วย วิธีนี้จะใช้ได้ดีกับเซลล์มะเร็งที่มีเชื้อไวรัสเช่นมะเร็งหลังโพรงจมูกและมะเร็งต่อมน้ำเหลืองหลังการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ดีของระบบภูมิคุ้มกัน งานวิจัยนี้นำโดยผศ.ดร.นพ. ปกรัฐ หังสสูต ผู้วิจัยมีความเชี่ยวชาญ ในการพัฒนา T-cell ชนิดนี้มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ปัญหาของ T-cell ได้แก่ การเพาะเลี้ยง T-cell ดังกล่าวใช้เวลานาน และคาดการณ์เวลาที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงไม่ได้ หลายครั้งที่ผู้ป่วยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งก่อนการเพาะเลี้ยง T-cell สำเร็จ แม้ว่าการใช้ T-cell จากผู้อื่นที่มีพันธุกรรมตรงกันบางส่วน (third-party T cells) อาจช่วยในการรักษาโรคมะเร็งได้ แต่การหาคนที่มีพันธุกรรมตรงกันแบบสมบูรณ์ทำได้ยากมาก ดังนั้นผู้วิจัยวางแผนจะพัฒนาการปรับปรุงพันธุกรรม T-cell ของผู้ป่วยเองเพื่อการรักษา ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่ดีและเหมาะสมกว่าเมื่อคำนึงถึงระยะเวลาของผู้ป่วยที่มีจำกัด

CAR T cells

การดัดแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาวโดยการดัดแปลงพันธุกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น วิธีนี้เป็นการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและเป็นการรักษาโดยเซลล์บำบัดเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ชื่อของเซลล์นี้คือ CAR T cells (Chimeric antigen receptor T cells) หลักการคร่าวๆคือเป็นการดัดแปลงทีเซลล์ในห้องปฏิบัติการ โดยนำบางส่วนของแอนติบอดี (แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ในแอนติบอดีเพื่อการรักษา) มาตัดต่อลงบนทีเซลล์ โดยใช้ประโยชน์ของความจำเพาะของแอนติบอดีที่มีต่อเซลล์มะเร็ง และเมื่อแอนติบอดีที่ถูกนำมาแปะตรวจพบเซลล์มะเร็งก็จะสามารถกระตุ้นทีเซลล์ให้เริ่มการทำลายได้อย่างรวดเร็ว CAR T cells อาจถูกเรียกว่าซุปเปอร์ทีเซลล์ก็ได้เพราะมันมีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งได้สูงกว่าทีเซลล์ทั่วๆไปด้วย ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดีมากเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิด lymphoid หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ พบว่าได้ผลดีมากอย่างน่าอัศจรรย์ในผู้ป่วยจำนวน 85 – 90% ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานนั่นคือการใช้เคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้ว ในขณะนี้การรักษาด้วย CAR T cells จึงเป็นที่สนใจมากและมีการพัฒนาเพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่นๆต่อด้วย ในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามี CAR T cells ที่ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้ 2 ชนิด คือ Kymriah จาก Novatis และ Yescarta จาก Kite Pharma โดยมีราคาตั้งสูงถึง 16 ล้านบาท
ขณะนี้คณะผู้วิจัยในทีมทุกคนร่วมมือกันเพื่อพัฒนา CAR T cells เพื่อให้มีการรักษาที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในประเทศไทย ในราคาที่สมเหตุสมผลโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา CAR T cells ต่อมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย

NK Cells

การพัฒนาการรักษาโดยใช้เอ็นเคเซลล์ (NK cells) ซึ่งเป็นเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีความสามารถในการฆ่าเซลล์มะเร็งบางชนิดได้ดีมาก มะเร็งที่มีรายงานว่าได้ผลดีต่อการรักษาด้วย NK cells คือ มะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิด Myeloid โดยจะใช้วิธีนี้รักษาในผู้ป่วยที่มีโรคกลับเป็นซ้ำหรือไม่ตอบสนองต่อการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ขณะนี้คณะผู้วิจัยนำโดย อ.นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ ได้พัฒนาการเลี้ยง NK-T cells เพื่อจะรักษาในมนุษย์สำเร็จแล้ว โดยได้รับการสนับสนุนเบื้องตันจาก TCELS คณะผู้วิจัยวางแผนที่จะพัฒนาการ NK-cells และ NK-T cells สำหรับการรักษามะเร็งเม็ดเลือดชนิด Acute Myeloid Leukemia ซึ่งมีรายงานว่าสามารถรักษาผู้ป่วยที่เกิด Relapsed post Hematopoetic stem cell transplantation ซึ่งไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัดแล้วได้สำเร็จเกิน 50% การเลี้ยง purified NK-cells และเพิ่มจำนวน ให้มีปริมาณเพียงพอทำได้ยาก เนื่องจาก NK-cells มีปริมาณน้อยในกระแสเลือด และมีค่าใช้จ่ายสูงมากแต่ทางคณะผู้วิจัยได้ทำการพัฒนาวิธีการเพิ่มจำนวน NK-cells และ NK-T cells ภายนอกร่างกายที่สามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ได้มากขึ้นกว่าวิธีมาตรฐานและจะเริ่มทดลองรักษาในผู้ป่วยจริง นอกจากนี้คณะผู้วิจัยยังจะทำการพัฒนาการดัดแปลงพันธุกรรมของ NK-cells และ NK-T cells เพื่อให้เซลล์ดังกล่าวสามารถหลบหลีกสัญญาณการยับยั้งการทำงานของเซลล์ภูมิคุ้มกัน (inhibitory signal) จากเซลล์มะเร็งและเซลล์แวดล้อมของเซลล์มะเร็งอีกด้วย ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวจะต้องเริ่มทำทั้งในระดับ การทดสอบในหลอดทดลอง และการทดสอบในสัตว์ทดลองเพื่อให้เกิด ความมั่นใจในประสิทธิภาพและความปลอดภัยเพียงพอที่จะทำการวิจัยในระดับคลินิกต่อไป

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เตรียมความพร้อมสำหรับการรักษาด้วยเซลล์บำบัดโดยการสร้างห้องผลิตเซลล์ที่ได้มาตรฐานที่ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ โดยความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านสเต็มเซลล์และเซลล์บำบัด โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาให้มีการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าได้ผลดี เพื่อให้บริการต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งชาวไทยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพได้อย่างทัดเทียมเช่นเดียวกันกับนานาชาติที่พัฒนาแล้ว

กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง (Neoantigen and Cancer Vaccine)

การพัฒนาวัคซีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต่อต้านมะเร็ง: วัคซีนที่ผู้คนทั่วไปรู้จักในการป้องกันโรคต่างๆทำงานด้วยการนำสิ่งก่อโรคมาทำให้อ่อนแรงลง และนำเข้าสู่ร่างกายกระตุ้นภูมิคุ้มกันของเราให้จดจำสิ่งก่อโรคเหล่านั้นได้ เมื่อเจอเชื้อโรคหน้าตาเหมือนเดิมในครั้งต่อไป ร่างกายก็จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัคซีนมะเร็งก็ทำงานคล้ายๆกัน เป้าหมายคือสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้ตอบสนองต่อมะเร็งได้ โดยวัคซีนมะเร็งมีอยู่สองประเภทใหญ่ๆคือ

Preventive vaccine

วัคซีนเพื่อป้องกัน (Preventive vaccine) ปัจจุบันมีวัคซีนที่ป้องกันมะเร็งได้ โดยการสร้างภูมิคุ้มกันต่อไวรัสซึ่งมีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง ได้แก่วัคซีนต่อไวรัส HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก (cervical cancer) และวัคซีนต่อไวรัสตับอักเสบบี (HBV) เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็งตับจากไวรัส HBV

Therapeutic vaccine

วัคซีนเพื่อรักษา (Therapeutic vaccine) คือเป็นวัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อมะเร็งในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งอยู่แล้ว ปัญหาหลักของการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันคือการค้นหาเป้าหมายว่าเราควรจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อส่วนใดของเซลล์มะเร็งจึงจะได้ผลดีที่สุด นอกจากนี้เซลล์มะเร็งที่อยู่ในเนื้องอกก้อนเดียวกันยังเกิดการกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆทำให้เกิดการดื้อยาได้ง่าย ซึ่งเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่มีความก้าวหน้าล่าสุดทำให้เราสามารถตรวจยีนและโปรตีนทั้งหมดจากเซลล์มะเร็งเพื่อค้นหาความหลากหลายของการกลายพันธุ์ทั้งหมดของผู้ป่วยแต่ละคน และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาวิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน ซึ่งวิธีการรักษานี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้นและมีเป้าหมายที่เซลล์มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์โดยโปรตีนที่ถูกสร้างจากยีนที่กลายพันธุ์เหล่านี้ (ที่เรียกว่า “นีโอ epitopes” หรือ “นีโอแอนติเจน”) จะถูกตรวจสอบและโจมตีโดยระบบภูมิคุ้มกัน โดยการใช้วัคซีนต่อต้านมะเร็ง (โดยใช้เปปไทด์หรือ RNA เป็นวัคซีน) ที่กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ให้โจมตีนีโอแอนติเจนหลายๆตัวพร้อมกัน พบว่าผลการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดีอย่างมากทำให้ในปัจจุบัน มีการดำเนินการทดลองทางคลินิกแบบ phase 1 เป็นจำนวนหลายโครงการ แต่การรักษาวิธีเป็นการรักษาเฉพาะบุคคล จะต้องมีการตรวจวิเคราะห์ยีนและโปรตีนของมะเร็งของบุคคลนั้นๆ เพื่อเลือกส่วนประกอบของวัคซีน
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีเครื่องมือที่มีความทันสมัยที่สามารถตรวจหาการกลายพันธ์ของก้อนมะเร็งทั้งในระดับยีนและระดับโปรตีนเทียบเท่าศูนย์วิจัยระดับโลก และพร้อมที่จะค้นหานีโอแอนติเจนและพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคมะเร็งเฉพาะบุคคล การรักษาด้วยวัคซีนลักษณะเช่นนี้มีความคาดหวังว่าจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันที่เหมาะสมต่อการกำจัดมะเร็งได้สูงและมีราคาต่ำกว่าการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดชนิดอื่นๆที่กล่าวมาข้างต้น โครงการนี้มีความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญสาขาเคมีด้านนาโนเทคโนโลยี ภูมิคุ้มกันวิทยาและแพทย์จากในประเทศและต่างประเทศในด้านการนำส่งวัคซีนชนิดต่างๆ รวมทั้งการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (personalized cancer therapy) ต่อไป

กลุ่มวิจัยเครื่องหมายทางชีวภาพด้านโรคมะเร็ง (Cancer Biomarker)

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ความก้าวหน้าด้านงานวิจัยมะเร็งทำให้เกิดเทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการวินิจฉัย พยากรณ์โรคและรักษาใหม่จำนวนมาก มะเร็งหลายชนิดที่พบในผู้ป่วยไทยมีความแตกต่างจากที่พบในประเทศ ทางตะวันตกจำเป็นที่จะต้องมีการบูรณาการงานวิจัยเพื่อค้นหาองค์ความรู้ใหม่ และนำไปพัฒนาวิธีการวินิจฉัย และการรักษาโรคมะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป โครงการที่เสนอมีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างฐานข้อมูล Omics ของมะเร็งปอดและลำไส้ใหญ่ผู้ป่วยอย่างละ 100 รายเชื่อมโยงกับข้อมูลคลินิคที่สมบูรณ์ทั้งผล lab การรักษา และการตอบสนอง เก็บตัวอย่างมะเร็งสร้าง next generation cancer model ได้แก่ organoids และ patient-derived xenograft ซึ่งข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามี ความใกล้เคียงกับมะเร็งในผู้ป่วยมากกว่า cell line ที่มีการศึกษาเดิม รวมทั้งสามารถนำไปทดสอบการรักษาทำการ screen แบบ personalized/precision medicine และเก็บเข้า biobank โดยที่สามารถนำออกมาเพิ่มจำนวนเพื่อการวิจัยอื่นๆที่จำเป็นในอนาคต นอกจากเซลล์มะเร็งแล้วโครงการนี้ยัง มุ่งแยก Tumor infiltrated lymphocyte (TIL) และ stromal cells ซึ่งจำเป็นต่องานวิจัย cancer immunotherapy, cancer vaccine และการสร้าง antibody เพื่อการวินิจฉัยและรักษา ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญอีกอย่างของกลุ่ม
ทั้งนี้สิ่งที่ได้จากโครงการวิจัยจะเป็น resource สำคัญต่อการต่อยอดพัฒนาการวิจัยมะเร็งโดยรวมในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการหา biomarkers ใหม่ การพัฒนายาใหม่ การพัฒนา immunotherapy และผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าอื่นๆ

คำถามวิจัยเฉพาะของทีมวิจัย คือ
1. Biomarkers discovery ใน lung cancer ระยะเริ่มต้น และระยะ advance โดยการศึกษา omics
2. ศึกษาปัจจัยต่อ chemoradiation responsiveness ของ colorectal cancer โดยใช้ 3D cancer model + challenge ด้วยยา และการฉายรังสี รวมกับ omics เปรียบเทียบกับข้อมูลทางคลินิกของผู้ป่วย

กลุ่มวิจัยพัฒนาธนาคารชีววัตถุ ฐานข้อมูลจีโนมและโอมิกซ์ และโมเดลเพื่อการศึกษาโรคมะเร็ง (Chula Tissue Bank, Genome and Omics Databases, and Cancer Model)

การสร้าง biobank ของมะเร็งที่เป็นจุดเด่นของประเทศและภูมิภาคที่ comprehensive เทียบเท่า มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงต่างประเทศ รวบรวมทั้งข้อมูลคลินิก ข้อมูลทางห้องปฏิบัติการชั้นสูง omics ต่างๆ เซลล์ และ biosample อื่นๆ สามารถเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ database ของ cancer center ระดับโลก เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญต่องานวิจัยอย่างมาก
นอกจากธนาคารชีววัตถุ (Biobank) แล้ว การมีฐานข้อมูลทางจีโนมและโอมิกซ์อื่น ทั้ง epigenomics, transcriptomics, proteomics, metabolomics เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการดำเนินงานด้านมะเร็ง ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นจากงานวิจัยต้องมี high performance computer system ที่สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลได้พร้อมกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มี computer scientists, programmers, bioinformaticians, biostatisticians, และ information technologists ช่วยกันดูแลระบบและใช้ข้อมูลร่วมกับ biologists ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยศูนย์นี้จะดูแลข้อมูล Human Omics ในรูปแบบของ Big data ด้วยความร่วมมือจากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศูนย์นี้จะพัฒนาการสร้าง next generation cancer model (Organoids + Patient derived xenograft) ของมะเร็งปอด และมะเร็งลำไส้ใหญ่ซึ่งสามารถนำไปเพิ่มจำนวน เมื่อต้องการใช้ในอนาคตได้ ซึ่งจะเป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัย Drug Discovery และ Personalized Medicine สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง จากที่กล่าวมาโดยสรุปจะเห็นได้ว่าการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนา ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เนื่องจากเป็นวิธีการสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับวิธีการรักษาแบบเก่า ทั้งนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ซึ่งจะมีประชากรเป็นจำนวนมากที่จะป่วยด้วยโรคมะเร็ง ดังนั้นการพัฒนาอย่างเร่งด่วนในตอนนี้จะส่งให้เกิด ผลดีต่อสุขภาพของประชาชนและลดการนำเข้ายารักษาโรคแบบภูมิคุ้มกันบำบัดจากต่างประเทศและสร้าง นวัตกรรมสำหรับการรักษาโรคมะเร็งซึ่งมีมูลค่ามหาศาลในอนาคต