เรื่อง : รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์
อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล
ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นโรคร้ายอันดับหนึ่งที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุด นอกจากนี้สถิติการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งยังมีอัตราเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี โรคมะเร็งจึงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่แท้จริงของประเทศไทย ด้วยปัจจัยเสี่ยงทั้งจากภายในและภายนอกร่างกายผู้ป่วย เช่น พันธุกรรม หรือวิถีการดำเนินชีวิตผิดๆ ของคนยุคสมัยใหม่ เป็นการเร่งภาวะการก่อมะเร็งมากขึ้น ขณะเดียวกัน การรักษามาตรฐานในปัจจุบัน ยังมีประสิทธิภาพไม่สูงมากนัก และอาจเกิดผลข้างเคียงในอัตรที่สูงได้ จำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการรักษาโรคมะเร็งเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนมากที่สุด
การรักษาด้วยแอนติบอดีเพื่อเอาเบรคออกใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยมะเร็งบางรายที่มีภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อมะเร็งอยู่แล้วแค่ปลดเบรคออกก็มีภูมิไปทำลายเซลล์มะเร็งได้แต่รายที่ยังไม่มีภูมิจึงมีความจำเป็นจะต้องกระตุ้นภูมิต้านมะเร็งเพิ่มเติมโดยใช้หลักการของวัคซีนนั่นเอง

แผนภาพแสดงขั้นตอนการผลิตวัคซีนต่อต้านมะเร็งเฉพาะบุคคลโดยวัคซีน
จะไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งให้สามารถต่อต้านมะเร็งได้
ดังนั้น “หากเราสามารถค้นพบวิธีการรักษามะเร็งที่มีความจำเพาะต่อบุคคลได้จะเป็นอย่างไร?” จึงเป็นอีกหนึ่งโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายและเป็นวัตถุประสงค์ของ กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง (Neoantigen and Cancer Vaccine) และศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 ช่วงที่ 2 ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2560
โดยมีเป้าหมายในการวิจัยและพัฒนาการรักษามะเร็งด้านภูมิคุ้มกันบำบัด โดยการศึกษาทางคลินิกนำทีมโดย รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และมี อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาเชิงระบบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นหัวหน้ากลุ่มวิจัยและมีทีมนักวิจัย ประกอบด้วย ดร.นพัต จันทรวิสูตร ดร.ภูริชญา สมภาร ดร.ธรรมกร แซ่ตั้ง ดร.พิริยะ วงศ์คงคาเทพ น.ส.สรินยา คำปัญญา น.ส.จิรัฏฐา ศิริลักษณ์ นายจิราเดช มักเจริญ น.ส.นัฐธิญา กาลพงษ์นุกุล และ นายอิสรา อาลี นอกจากนี้โครงการนี้ยังมีความร่วมมือกับอาจารย์และนักวิจัยด้านอื่นๆ อีกจำนวนมาก

อ.นพ.ไตรรักษ์ พิสิษฐ์กุล
อ.นพ.ไตรรักษ์ อธิบายว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีเชื้อมะเร็งอยู่ในร่างกาย เมื่ออยู่ในภาวะแวดล้อมที่มีปัจจัยเหมาะสม จะกระตุ้นให้เกิดภาวะก่อมะเร็งเกิดขึ้นได้ ที่สำคัญคือ เชื้อมะเร็งที่ว่ายังมีความเป็นเฉพาะบุคคลอีกด้วย กล่าวคือความหลากหลายของมะเร็งในผู้ป่วยแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในอวัยวะเดียวกัน หน้าตาของเซลล์เหมือนกันแต่มีความแตกต่างกันในด้านพันธุกรรมของมะเร็ง ทำให้การรักษาแบบเหมารวมไม่ประสบความสำเร็จ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการรักษาที่เหมาะสมต่อมะเร็งของผู้ป่วยแต่ละคน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การวิจัยพัฒนารักษาโรคมะเร็งในยุคปัจจุบันมุ่งเน้นไปที่การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เนื่องจากเป็นวิธการที่มีประสิทธิภาพสูงและที่สำคัญคือมีความจำเพาะต่อโมเลกุลเป้าหมายในเซลล์มะเร็งแต่ละชนิดของผู้ป่วยแต่ละราย
วัคซีนที่คนทั่วไปรู้จักในการป้องกันโรคต่างๆ ทำงานด้วยการนำเชื้อโรคมาทำให้อ่อนแรงลง และนำเข้าสู่ร่างกายมนุษย์จะไม่ทำให้เกิดอาการของโรค แต่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันของมนุษย์ให้จดจำเชื้อโรคเหล่านั้นได้ เมื่อเจอเชื้อโรคหน้าตาเหมือนเดิมในครั้งต่อไป ร่างกายก็จะสามารถจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ วัคซีนมะเร็งมีหลักการการทำงานคล้ายคลึงกัน ซึ่งเป้าหมายของโครงการนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อต้านมะเร็งโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งคือ การผลิตวัคซีนที่สามารถกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยมะเร็งตอบสนองต่อต้านมะเร็งได้นั่นเอง
มะเร็งที่มีการกลายพันธุ์จะสร้างโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ออกมา โปรตีนเหล่านั้นจะเป็นเป้าหมายต่อการใช้วัคซีนเพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผู้ป่วยให้ต่อต้านโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์ดังกล่าว ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสามารถเห็นโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์เป็นสิ่งแปลกปลอมได้ ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายถูกกระตุ้นผ่านกระบวนการพิเศษทำให้มีความสามารถในการจดจำและทำลายเซลล์มะเร็งที่มีโปรตีนกลายพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายได้อย่างจำเพาะโดยไม่ส่งผลต่อเซลล์ปกติในร่างกาย
วิธีใหม่นี้มีความแตกต่างจากวิธีการกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อมะเร็งในอดีตที่ยังไม่ได้ผลดีนัก ซึ่งเกิดจากหลายๆ ปัจจัย ได้แก่ 1) การใช้ก้อนมะเร็งทั้งหมดเป็นวัคซีน ซึ่งในก้อนมะเร็งจะมีโปรตีนที่เหมือนกับเซลล์ปกติเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้กระตุ้นภูมิได้ไม่ดี และ 2) การใช้โปรตีนกลายพันธุ์ที่พบบ่อยในก้อนมะเร็งแค่บางชนิดเป็นวัคซีน ซึ่งไม่มีประสิทธิภาพดีเท่าที่ควรเนื่องจากก้อนมะเร็งมีการกลายพันธุ์ที่หลากหลาย
ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือการใช้วัคซีนที่ประกอบด้วยโปรตีนกลายพันธุ์หลากหลายชนิดที่พบเฉพาะในก้อนมะเร็งของผู้ป่วยคนนั้นๆ หรือที่เรียกว่า วัคซีนต่อมะเร็งเฉพาะบุคคลจึงจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกัน

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์
รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ กล่าวเสริมอีกว่า แม้ว่าวิธีการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันจะมีหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมีบำบัดและการฉายแสง แต่วิธีการดังกล่าวมีข้อจำกัดในประสิทธิภาพของการรักษาที่จะได้ผลดีในมะเร็งระยะเริ่มต้นเท่านั้น นอกจากนี้ การรักษาดังกล่าวไม่มีความจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง จึงอาจเกิดผลข้างเคียงทั้งในระยะสั้นและระยะยาวได้ ดังนั้นการวิจัยเพื่อให้ได้วิธีการรักษาแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษามะเร็งให้หายขาดและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ปัจจุบันกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งได้นำเอาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าล่าสุดมาใช้เพื่อหาและตรวจสอบยีน รวมถึงโปรตีนทั้งหมดจากเซลล์มะเร็ง ค้นหาการกลายพันธุ์ที่มีความหลากหลายทั้งหมดในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งกลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็งเล่าว่า ขณะนี้มีการค้นพบโปรตีนกลายพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายในการสร้างวัคซีนจากกลุ่มตัวอย่างเนื้อเยื่อมะเร็งจากผู้ป่วยทั้งหมด 25 ราย และยังค้นหาต่อเนื่องให้ได้มากที่สุดเพื่อให้สามารถนำมาพัฒนาวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลให้มีความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำไปใช้ในการทดลองรักษาผู้ป่วยมะเร็ง จะเพิ่มโอกาสทำให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุดและมีผลข้างเคียงน้อยที่สุด อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งในประเทศไทย
นอกจากนั้น กลุ่มวิจัยนีโอแอนติเจนและวัคซีนต่อมะเร็ง ยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญสาขาเคมีด้านนาโนเทคโนโลยี ภูมิคุ้มกันวิทยา และแพทย์จากทั้งในและต่างประเทศในการศึกษาความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันและการทำลายเซลล์มะเร็งเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาการรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (Personalized Cancer Therapy) รวมถึงระบบการนำส่งวัคซีนชนิดต่างๆ เพื่อให้การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับต้นๆของประเทศเกิดขึ้นได้จริงและก้าวไปสู่ปลายทางที่จะทำให้คนไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีอายุยืนยาวขึ้น เพิ่มโอกาสในการใช้ชีวิต สร้างสังคมไทยให้ปราศจากโรคภัยต่อไป
Leave a reply